Oyster Perpetual GMT-Master II ได้รับการออกแบบให้สามารถแสดงสองเขตเวลาได้พร้อมกัน ทั้งยังเปี่ยมด้วยความทนทานและฟังก์ชันการทำงานชั้นเลิศ นาฬิกาเรือนนี้จึงเหมาะสำหรับการเดินทางท่องโลกเป็นอย่างยิ่ง นาฬิการุ่น GMT-Master ที่เปิดตัวในปี 1955 ถือเป็นประจักษ์พยานของการเดินทางข้ามทวีปกระแสนิยมในช่วงครึ่งหลังของศตวรรษที่ 20 และกลายเป็นนาฬิกาที่ถูกนำมาใช้อย่างเป็นทางการโดยสายการบิน Pan American World Airways ซึ่งเป็นสายการบินระหว่างทวีปที่มีชื่อเสียงของสหรัฐอเมริกาในขณะนั้น
โดย GMT-Master ได้รับการสร้างสรรค์ให้ทำหน้าที่เป็น “เครื่องมือบอกเวลา” อย่างแท้จริง และยังได้รับการพัฒนาประสิทธิภาพทางด้านเทคนิคอย่างต่อเนื่อง ต่อมาในปี 1982 Rolex ได้เปิดตัวกลไกการทำงานรุ่นใหม่ที่ช่วยให้เข็มชั่วโมงสามารถปรับตั้งได้อย่างอิสระจากเข็มแสดงเวลาอื่นๆ และเพื่อแสดงให้เห็นถึงวิวัฒนาการอันสำคัญ จึงมีการพัฒนาให้นาฬิการุ่นนี้มาพร้อมกลไกการทำงานที่มีประสิทธิภาพมากว่าเดิมภายใต้ชื่อ GMT-Master II
GMT-Master II มีรูปลักษณ์ที่ผู้คนสามารถจดจำได้ในทันที โดยมีขอบหน้าปัดแสดงเวลาในเวอร์ชันสองคู่สี โดยส่วนครึ่งล่างจะแทนเวลาในช่วงกลางวันและส่วนครึ่งบนจะแทนเวลาในช่วงกลางคืน นาฬิกา GMT-Master II มาพร้อมกับเข็มแสดงชั่วโมง นาที และวินาทีแบบดั้งเดิม ที่ปลายเข็มแสดงเวลา 24 ชั่วโมงและมีดีไซน์เป็นรูปสามเหลี่ยม และยังมีขอบตัวเรือนหมุนได้สองทิศทางที่มากับขอบหน้าปัด Cerachrom พร้อมขั้นบอกเวลา 24 ชั่วโมง จึงสามารถแสดงเวลาได้สองเขตเวลาพร้อมกัน ได้แก่ เวลาท้องถิ่นและเวลาอ้างอิง หรืออีกนัยหนึ่งคือเวลาท้องถิ่นและเขตเวลาอื่นตามต้องการ
นาฬิการุ่น GMT-Master II ประกอบด้วยกลไกคาลิเบอร์ 3285 หรือกลไกการทำงานของระบบขึ้นลานอัตโนมัติที่พัฒนาและผลิตโดย Rolex แต่เพียงผู้เดียว กลไกที่แสดงให้เห็นถึงเทคโนโลยีชั้นสูงดังกล่าวนี้มีสมรรถนะที่โดดเด่นด้านความเที่ยงตรง การสำรองพลังงาน ความสะดวกสบาย และความน่าเชื่อถือ โดยมาพร้อมแฮร์สปริง Parachrom สีฟ้าสุดพิเศษและชุดกลไกปล่อยจักร Chronergy ที่ผ่านการจดสิทธิบัตรแล้ว ที่สำคัญพลังงานสำรองของกลไกรุ่นนี้ได้รับการปรับเพิ่มประสิทธิภาพเพื่อให้รองรับการใช้งานเป็น 70 ชั่วโมงโดยประมาณ
ขอบหน้าปัด Cerachrom ผลิตขึ้นจากเซรามิกที่มีความแข็งเป็นพิเศษและ Rolex นำมาผ่านกระบวนการหล่อขึ้นรูปแบบชิ้นเดียว วัสดุที่เป็นเทคโนโลยีชั้นสูงนี้สามารถป้องกันรอยขีดข่วนได้เป็นอย่างดีและจะยังคงสีสันที่งดงามเมื่อเวลาผ่านไป ทั้งนี้ Rolex ได้สร้างปรากฏการณ์ครั้งใหม่ในปี 2013 ด้วยการเปิดตัวขอบหน้าปัดเซรามิกสองสีแบบชิ้นเดียวเป็นครั้งแรก ซึ่งประกอบด้วยสีน้ำเงินและสีดำอย่างละครึ่ง หลังจากนั้นหนึ่งปีต่อมา ทางแบรนด์ก็ได้เปิดตัวขอบตัวเรือน Cerachrom สีแดงและสีน้ำเงิน ซึ่งเป็นสีดั้งเดิมของนาฬิกา GMT-Master โดยขอบหน้าปัดนาฬิการุ่นนี้เป็นดอกผลของงานวิจัยและพัฒนาเซรามิกสีแดงที่ให้ความสำคัญทั้งในเรื่องของความสวยงามและคุณภาพ
ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา Rolex ได้นำเสนอการผสมสีในหลากหลายแบบ ได้แก่ สีน้ำตาลและสีดำ ในปี 2018 รวมถึงสีเขียวและสีดำ ในปี 2022 ในเวอร์ชันที่มีเม็ดมะยมและขอบป้องกันเม็ดมะยมทางด้านซ้ายของตัวเรือน และมีส่วนแสดงวันที่ที่ 9 นาฬิกา รวมถึงสีเทาและสีดำ ในปี 2023
ดังเช่นนาฬิกาของ Rolex ทุกเรือน GMT-Master II ได้รับการรับรอง Superlative Chronometer โดยมาตรฐานดังกล่าวถือเป็นเครื่องยืนยันว่านาฬิกาทุกเรือนได้ผ่านกระบวนการทดสอบที่ควบคุมโดย Rolex ภายในห้องปฏิบัติการตามเกณฑ์ที่กำหนด สถานะ Superlative Chronometer ใช้ตราสัญลักษณ์กรีนซีลที่มาพร้อมนาฬิกา Rolex ทุกเรือนควบคู่กับการรับประกันคุณภาพระดับสากล 5 ปี